Search

รัฐบาลไทยย้ำพร้อมดำเนินคดีกับเว็บไซต์ผิดกฎหมาย - ข่าวจริง

sebuahblogint.blogspot.com

ในวันพุธนี้ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวในการแถลงข่าว ยืนยันว่าจะดำเนินคดีกับเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่ปล่อยให้มีการกระทำผิดกฎหมาย โดยเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย พร้อมเชื่อว่าเฟซบุ๊กจะไม่ฟ้องร้องรัฐบาลไทย

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ แถลงข่าว กรณีเฟซบุ๊กออกแถลงการณ์เตรียมดำเนินคดีกับรัฐบาลไทย หลังถูกขอให้ปิดกั้นการเข้าถึงเพจต่าง ๆ ว่า การดำเนินการทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย โดยที่ผ่านมาทางรัฐบาลได้ทำหนังสือแจ้งไปยังแพลตฟอร์มต่าง ๆ รวมถึงเฟซบุ๊ก ให้ช่วยลบเนื้อหาที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หรือนำออกจากแพลตฟอร์ม จำนวนทั้งหมด 1,129 รายการ พร้อมกับแนบคำสั่งศาล ซึ่งเพจรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส อยู่ในจำนวนนี้ด้วย ซึ่งแพลตฟอร์มต่าง ๆ รวมถึงเฟซบุ๊ก ก็ทยอยลบออกอย่างครบถ้วน ซึ่งวันนี้จะได้มีการดำเนินการส่งคำสั่งศาลอีกจำนวน 1,024 รายการ เป็น เฟซบุ๊กจำนวน 661 รายการ ยูทูบ 289 รายการ ทวิตเตอร์ 69 รายการ และเว็บไซต์อื่นๆ อีก 5 รายการ

“โดยหลังจากวันนี้นับไป 15 วัน ถ้าไม่มีการลบ หรือไม่มีการดำเนินการใด ๆ เราก็ต้องดำเนินคดีกับแพลตฟอร์มที่ไม่ให้ความร่วมมือ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลของไทย ที่ผ่านมา 1,129 รายการ ถูกลบหมดแล้ว” นายพุทธิพงษ์ กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว

“ที่ผ่านมาเราแนบแต่คำสั่งศาล แต่ครั้งนี้เราอ้าง ม. 27 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ว่า ถ้าเขาไม่ทำ เขาจะมีความผิด และถูกดำเนินคดีด้วย เพราะที่ผ่านมาเราขอความร่วมมือ แต่เรื่องมันแช่อยู่นาน ครั้งนี้เราบอกไปด้วยว่า มีระยะเวลา” นายพุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม

โดยมาตรา 27 ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ระบุว่า ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่สั่งตามมาตรา 18 หรือมาตรา 20 หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลตามมาตรา 21 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท และปรับเป็นรายวัน อีกไม่เกินวันละ 5,000 บาท จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง

นายพุทธิพงษ์ กล่าวต่อด้วยว่า หลังจากทางการไทยส่งคำสั่งศาล และแนบมาตรา 27 ไปยังแพลตฟอร์มแล้ว ยังได้ทำจดหมายไปเตือน หลังจากผ่านไป 7 วัน และ 14 วัน เพื่อให้โอกาสแพลตฟอร์มได้ดำเนินการตามที่ร้องขอด้วย

ทั้งนี้ นายพุทธิพงษ์ ให้สัมภาษณ์กับเบนาร์นิวส์ หลังการแถลงข่าวว่า การกระทำดังกล่าวไม่ได้เป็นการข่มขู่ หรือคุกคาม แต่เป็นเจตนาดีที่อยากให้แพลตฟอร์มต่าง ๆ ทำงานได้สะดวกขึ้น รวดเร็วขึ้น ตามที่กฎหมายระบุ

“ตอนแรกเขาไม่เข้าใจว่าทำไม 15 วัน มันไปข่มขู่เขาหรือเปล่า เราก็เอากฎหมายส่งไปให้เขาดูเลยว่า กฎหมายระบุว่าภายในเวลา 15 วัน และสอง เขาเข้าใจว่าคำสั่งที่ส่งไปเป็นกระทรวงฯ ส่ง ซึ่งมันไม่ใช่ เราจึงแนบคำสั่งศาลไปทุกอัน จะได้สบายใจได้ เขาจะได้ไม่ต้องไปคิดว่าอันนี้มันรังแกกันหรือเปล่า เพราะคำสั่งศาลเป็นที่สุด... พอเขาเห็นกฎหมาย เขาเลยรีบทำให้ เพราะเขาเห็นแล้วว่าเราไม่ได้ไปข่มขู่เขา มันเป็นสิ่งที่กฎหมายเขียนไว้จริง ๆ” นายพุทธิพงษ์ ระบุ

อย่างไรก็ตาม นายพุทธิพงษ์ เชื่อว่าการฟ้องร้องอาจจะไม่เกิดขึ้น เพราะที่ผ่านมาเฟซบุ๊กให้ความร่วมมือลบให้ทั้งหมด แม้กระทั่ง ติ๊กต็อก เราทำจดหมายไปขอเขาก็ลบให้ทั้งหมด จะเห็นได้ว่าเราได้รับความร่วมมืออย่างดี แต่หากมีการดำเนินการฟ้องร้องจริงก็พร้อมที่จะสู้ เพราะมั่นใจว่าเราทำตามกฎหมายของไทย และมีความจำเป็นที่ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นต่างประเทศหรือคนไทยที่ทำผิด เราก็ดำเนินการ

“กระทรวงฯ ไม่ได้ใช้ความคิดของตัวเองไปรังแกใคร เราใช้คำสั่งศาลภายใต้กฎหมายของประเทศไทย เราปกป้องอธิปไตยของไทย ที่วันนี้อาจไม่ได้มาในรูปแบบของขอบเขตดินแดน แต่เป็นอธิปไตยไซเบอร์ที่มาเร็ว และมีความเสียหายกับคนไทยอย่างต่อเนื่อง” นายพุทธิพงษ์กล่าว

สำหรับกรณีที่มีการปิดกั้นเพจเฟซบุ๊ก กลุ่มรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลสนั้น นายพุทธิพงษ์ ระบุว่า เคยมีการส่งหนังสือถึงเฟซบุ๊กให้ปิดกั้นกลุ่มดังกล่าวมาแล้ว 3 ครั้ง เพียงแต่ว่าก่อนหน้านี้ไม่ได้มีการแจ้งเรื่องเวลาว่า หากไม่ดำเนินการตามคำสั่งศาลภายใน 15 วัน จะมีการดำเนินคดีกับแพลตฟอร์ม แต่เมื่อล่าสุดได้มีการแนบกฎหมายไปพร้อมคำสั่งศาล เฟซบุ๊กจึงได้ดำเนินการปิดกั้นให้ภายในเวลา 15 วัน ตามที่ร้องขอ และหากมีการตั้งกลุ่มใหม่ก็จะดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป

กลุ่มรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส ก่อตั้งขึ้นในช่วงต้นปี 2563 โดย นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ปัจจุบัน เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเขียนข้อความวิพากษ์วิจารณ์ สถาบันพระมหากษัตริย์บ่อยครั้งบนหน้าเฟซบุ๊ก และเคยถ่ายทอดสดภาพบนเวทีการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ในวันที่ 10 สิงหาคม 2563

เจ้าหน้าที่จับกุมตัวผู้ปราศรัยร่วมในเวทีชุมนุม

ในวันเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการจับกุมตัว นายทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี หรือ ฟอร์ด และ นายภานุมาศ สิงห์พรม หรือเจมส์ จากความผิดเกี่ยวกับการขึ้นปราศรัยบนเวทีชุมนุม ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 เบื้องต้นแจ้งข้อหายุยงปลุกปั่น มาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา และความผิดอื่น ๆ รวม 8 ข้อหา ก่อนที่ภายหลังศาลอาญาจะอนุญาตให้ประกันตัวทั้งคู่ โดยมีเงื่อนไขว่า ห้ามกระทำผิดซ้ำตามที่ถูกกล่าวหา

ทั้งนี้ การจับกุมตัวนายทัตเทพ และภานุมาศ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 “กลุ่มเยาวชนปลดแอก” ที่ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “คณะประชาชนปลดแอก” ได้จัดการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้ประกาศข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ ให้รัฐบาลเลิกคุกคามประชาชน ยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การเรียกร้องครั้งดังกล่าว ทำให้มีนักเรียนนักศึกษาจัดการชุมนุมในลักษณะเดียวกันในสถานการศึกษา และในพื้นที่สาธารณะทั่วประเทศ

โดยในวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 มีกลุ่มประชาชนได้รวมตัวชุมนุมประท้วงที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) วันที่ 3 สิงหาคม 2563 ประชาชนชุมนุมอีกครั้งที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย​ โดยแต่งกายเลียนแบบตัวละครในภาพยนตร์​เรื่องแฮรี่ พอตเตอร์ และมีการปราศรัยถึงการให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

ต่อมาในวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มีการปราศรัยใหญ่ และระบุข้อเรียกร้อง 10 ข้อ เกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อมาในวันที่ 16 สิงหาคม 2563 มีการชุมนุมใหญ่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยยึด 3 ข้อเรียกร้องเดิม เพิ่ม 2 จุดยืนคือ การไม่เอารัฐประหาร และรัฐบาลแห่งชาติ และ 1 ความฝันที่จะมีสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

การเคลื่อนไหวในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ทำให้มีผู้ร่วมปราศรัย และผู้ร่วมกิจกรรมถูกจับกุมตัว โดยในวันที่ 7 สิงหาคม 2563 นายอานนท์ นำภาและภานุพงศ์ จาดนอก ถูกจับตัวเป็นครั้งแรกในข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ก่อนได้รับการประกันตัวในวันถัดมา วันที่ 14 สิงหาคม 2563 นายพริษฐ์ ชีวารักษ์ ถูกจับกุมตัวในข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 และได้รับการประกันตัวเช่นกัน

ต่อมาในวันที่ 19-20 สิงหาคม 2563 นายอานนท์ และผู้ปราศรัยรวม 9 ราย ถูกจับกุมตัว ก่อนได้รับการประกันตัวในเวลาถัดมา โดยนายอานนท์ ถูกจับกุมจากข้อหาที่เกี่ยวกับการชุมนุมวันที่ 3 สิงหาคม 2563 ขณะที่ผู้ปราศรัยที่เหลือถูกจับกุมในข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 กระทั่งในวันที่ 24-25 สิงหาคม 2563 นายอานนท์ และนายภานุพงศ์ ถูกจับอีกครั้งในข้อหาที่เกี่ยวกับการชุมนุมในวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ทำให้โดยสรุป ถึงปัจจุบัน มีนักเคลื่อนไหวทางการเมืองถูกควบคุมตัวแล้ว 13 คน จากการชุมนุมในระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2563 โดยนายอานนท์ ถูกจับ 3 ครั้ง นายภานุพงศ์ ถูกจับ 2 ครั้ง และคนอื่น ๆ ถูกจับคนละ 1 ครั้ง




August 27, 2020 at 04:30AM
https://ift.tt/3gtn9pH

รัฐบาลไทยย้ำพร้อมดำเนินคดีกับเว็บไซต์ผิดกฎหมาย - ข่าวจริง

https://ift.tt/3cQlFEa


Bagikan Berita Ini

0 Response to "รัฐบาลไทยย้ำพร้อมดำเนินคดีกับเว็บไซต์ผิดกฎหมาย - ข่าวจริง"

Post a Comment

Powered by Blogger.